นับถอยหลังเลือกตั้งกัมพูชา (5) อาณาจักรตระกูล “ฮุน”

ภายใต้การครองอำนาจมานานร่วมสามทศวรรษของ “ฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตระกูล “ฮุน” ของเขาได้สร้างอำนาจและขยายเครือข่ายครอบคลุมภาคธุรกิจกว่า 18 ภาค มีเครือญาติรวม 27 รายเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทในประเทศถึง 114 แห่ง อาทิ บริษัทด้านพลังงาน โทรคมนาคม เหมืองแร่ ป่าไม้ สื่อสารมวลชน หรือแม้กระทั่งองค์กรการกุศลอย่างสภากาชาด ที่มีนางบุน รานี ภรรยาเป็นประธาน รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6,600 ล้านบาท

โกลบอล วิทเนส องค์กรอิสระจากอังกฤษ เปิดเผยว่า ในการถือครองหุ้นบริษัทภายในประเทศของครอบครัวฮุน มีทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและละเมิดกฎหมาย นอกจากนี้ ฮุน เซนยังใช้ตำแหน่งนายกฯ เอื้อประโยชน์ให้บรรดาเครือญาติสามารถควบคุมหรือถือหุ้นใหญ่ในอุตสาหกรรมหลักๆ ของกัมพูชา ซึ่งในจำนวน 100 บริษัทนั้น มีสมาชิกของครอบครัวฮุน เป็นประธาน กรรมการ หรือถือหุ้นมากกว่า 25%

แม้ว่า นายกฯ ฮุน เซนจะออกมาปฏิเสธ พร้อมกับเปิดเผยที่มาของทรัพย์สินต่อหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่นว่า รายได้หลักของเขามาจากเงินเดือนประจำตำแหน่ง นายกฯ 1,150 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 38,000 บาท ทว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเขานั้นหรูหรามั่งคั่งสวนทางกับรายได้อย่างมาก

ด้านบุตรสาวคนโต “ฮุน มานา” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธุรกิจกว่า 22 แห่ง อาทิสถานีโทรทัศน์บายน หนังสือพิมพ์กัมพูเชีย ทเมย เดลี่ บริษัทด้านพลังงาน น้ำดื่มยี่ห้อ ไวทัล (Vital) และบริษัทโทรคมนาคม เวียดเทล แคมโบเดียที่ถือหุ้นอยู่ 6% รวมมูลค่าหุ้น 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1,400 ล้านบาท

ส่วนบุตรสาวคนเล็ก “ฮุน มาลี” เป็นผู้ถือหุ้นใน 7 บริษัท อาทิ เป็นประธาน TK Avenue ห้างสรรพสินค้าหรูแห่งแรกในพนมเปญ ธุรกิจด้านพลังงาน บริษัทด้านอาหาร สื่อสารมวลชนและเภสัชกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ตามรายงานของโกลบอล วิทเนส ยังระบุอีกว่า ธุรกิจรายใหญ่ระดับโลก อาทิ Apple, Canon, LG Electronics, Lenovo, IBM, Nokia, Electrolux, Pioneer มีความเชื่อมโยงกับครอบครัวฮุน โดยขั้นตอนในการนำเข้ามาจำหน่ายในกัมพูชาล้วนผ่านบริษัทของครอบครัวฮุนทั้งสิ้น แม้แต่สินค้าของ Nescafe Gold, Kleenex tissues และ Durex condoms ก็ยังถูกนำเข้าผ่านทางบริษัทของพี่สาวฮุน เซน ที่สำคัญบริษัทเหล่านี้จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งในด้านกฎหมายและการอำนวยความสะดวก

อย่างไรก็ตาม โกลบอล วิทเนส ระบุว่า รายงานดังกล่าวนี้เป็นเพียงการเปิดโปงธุรกิจบางส่วนเท่านั้น ยังมีธุรกิจอีกหลายส่วนที่ยังหลบซ่อนอยู่อีกมาก หรือในอีกแง่หนึ่งการที่เครือญาติและบรรดาลูกๆ ต่างขยายอำนาจสร้างธุรกิจในกัมพูชาจนกลายเป็นอาณาจักรตระกูล “ฮุน” อย่างทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะเพื่อต้องการดูแลนายกฯ ฮุน เซน หลังเกษียณแล้ว ดั่งคำกล่าวของนายกฯ ที่กล่าวเมื่อครั้งเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2554 ว่า

“ผมคิดว่าภายในอีกสองปีทรัพย์สินของผมจะลดลง ไม่มีเพิ่มขึ้น และนอกจากเงินเดือนประจำตำแหน่งของผมแล้ว ผมไม่มีรายได้อื่นอีก แต่ผมคิดว่าลูกๆ ของผมจะดูแลผม ไม่ปล่อยให้ผมอดอยากอย่างแน่นอน”

ขอบคุณข้อมูล

https://www.phnompenhpost.com/national-post-depth-politics/inside-hun-familys-business-empire

https://www.globalwitness.org/en/reports/hostile-takeover/


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment