นับถอยหลังเลือกตั้งกัมพูชา (1) ประวัติศาสตร์เลือกตั้ง

การเลือกตั้งในวันที่ 29 กรกฎาคมที่กำลังจะมาถึงนี้

เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์เลือกตั้งกัมพูชา

ราชอาณาจักรกัมพูชา ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี

นายกรัฐมนตรีของกัมพูชามาจากการเลือกตั้ง พรรคที่ได้รับเสียงข้างมากถึง 2 ใน 3 ของที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีทั้งหมด 123 ที่นั่ง จะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

ประวัติศาสตร์เลือกตั้งกัมพูชา

กัมพูชาจัดการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2536 ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การสหประชาชาติ มีพรรคการเมืองลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งแรกทั้งหมด 20 พรรค พรรคที่โดดเด่นมี 3 พรรค คือ พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) นำโดย สมเด็จฮุน เซน พรรคฟุนซินเปก (FUNCINPEC) นำโดย พระนโรดม รณฤทธิ์ และพรรคพุทธเสรีประชาธิปไตย นำโดย ซอนซาน (ผู้นำเขมรเสรี)

แม้ว่าพรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC) จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรคที่มีอำนาจในขณะนั้น ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและยังได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ จึงประสานให้พรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC) ยอมแบ่งอำนาจให้กับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมี พระนโรดม รณฤทธิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และสมเด็จฮุน เซน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ทว่าอำนาจการบริหารประเทศกลับตกอยู่ในมือของสมเด็จฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้กุมฐานเสียงประชาชนทั้งในชนบทและกองทัพแต่ผู้เดียว

ในที่สุด สมเด็จฮุน เซน ก็ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 จนต้องลี้ภัยมาที่ประเทศไทย แต่ภายหลังถูกนานาชาติกดดันจนต้องยอมให้ พระนโรดม รณฤทธิ์ กลับเข้าประเทศในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2541 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ได้ที่นั่งในสภา 64 ที่นั่ง พรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC) ได้ที่นั่ง 43 ที่นั่ง และพรรค สม รังสี (SRP) ได้ 15 ที่นั่ง

ภาวะชะงักงันเกิดขึ้นทันทีหลังจากเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองต้องครองคะแนนเสียงข้างมากในสภา ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จากที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 123 ที่นั่ง จึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ จึงได้ประสานให้พรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC) ร่วมมือกับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นอีกครั้ง โดยมีพรรคสม รังสี (SRP) เป็นพรรคฝ่ายค้าน

การเลือกตั้งครั้งที่ 3 จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2546 ผลปรากฏว่า พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ได้ 73 ที่นั่ง พรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC) ได้ 26 ที่นั่ง และพรรคสม รังสี (SRP) ได้ 24 ที่นั่ง ภายหลังเลือกตั้ง พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นเคย เพราะคะแนนเสียงในสภาไม่ถึง 2 ใน 3 เรื่องยืดเยื้อจนในที่สุด ได้มีการลงนามจัดตั้งรัฐบาลผสมกับสมเด็จนโรดมรณฤทธิ์อีกครั้งหนึ่ง ในอีก 1 ปีต่อมา

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) กวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปได้มากถึง 90 ที่นั่ง จากทั้งหมด 123 ที่นั่ง

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 5 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 กัมพูชาได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาท้องถิ่น ผลปรากฏว่า พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ได้ครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภา จึงไม่น่าแปลกใจที่ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) จะได้เสียงข้างมากในสภาไป โดยได้ที่นั่งไปทั้งหมด 68 ที่นั่ง

แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายของพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ก็คือ พรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างพันธมิตรฝ่ายค้าน 2 พรรค คือ พรรคสม รังสี นำโดยนาย สม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชน ที่นำโดย นาย กึม ซกคา มีคะแนนตามมาติดๆ ได้ที่นั่งในสภาไป 55 ที่นั่ง รวมถึงยังทำผลงานได้ดีในการเลือกตั้งท้องถิ่นเช่นเดียวกัน

การเลือกตั้งครั้งที่ 6 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ถูกมองว่าเป็นพรรคที่ไร้คู่แข่ง หลังจากที่นายกึม ซกคา หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ถูกบุกจับกุมที่บ้านพักเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว จากข้อหากบฏและสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ กระทำการอันเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล มิหนำซ้ำในอีก 2 เดือนถัดมา พรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ยังถูกศาลพิพากษายุบพรรค จากข้อกล่าวหาว่ากระทำการวางแผนโค่นล้มรัฐบาล ส่งผลให้แกนนำและสมาชิกพรรคต่างต้องระเหเร่ร่อนลี้ภัยออกนอกประเทศ เพราะเกรงจะถูกกวาดล้างไปด้วย ยังไม่นับ นาย สมรังสี อดีตหัวหน้าพรรคที่ลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส เพื่อหนีการจับกุมข้อหาหมิ่นประมาท ตั้งแต่ปี 2558

ไม่เว้นแม้แต่สื่ออิสระภาคภาษาอังกฤษหัวต่างๆ ที่ถูกกลั่นแกล้งและกดดันด้วยวิถีทางต่างๆ จนในที่สุดต้องทยอยปิดตัวกันไป ไม่ว่าจะเป็น “แคมโบเดียเดลี่” ที่ถูกรัฐบาลเรียกเก็บภาษีย้อนหลังอย่างไม่เป็นธรรม ถึงเกือบ 225 ล้านบาท จนต้องประกาศปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 เช่นเดียวกับ “พนมเปญโพสต์” สื่ออิสระภาคภาษาอังกฤษหัวสุดท้าย ที่ถูกเทคโอเวอร์ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาโดยนักลงทุนสัญชาติมาเลเซียซึ่งเคยทำงานด้านประชาสัมพันธ์กรุยทางสู่ตำแหน่งทางการเมืองให้กับสมเด็จฮุน เซน มาก่อน

นอกจากจะเทคโอเวอร์แล้ว ยังไล่บรรณาธิการออกและมีพนักงานขอลาออก อีก 4 คนด้วยเหตุผลว่าไม่ยอมปลดรายงานข่าวเกี่ยวกับการขายพนมเปญโพสต์ออกจากเว็บไซต์ แถมยังมีกระแสข่าวว่าสื่อวิทยุหลายรายถูกรังแกจนต้องปิดตัวกันไป

ทั้งการยุบพรรคฝ่ายค้านใหญ่ พรรคเล็กที่ไม่อยู่ข้างรัฐบาล รวมถึงการกดดันสื่อมวลชน ถูกมองว่าเป็นการเคลียร์พื้นที่กรุยทางให้กับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้กัมพูชากลับเข้าสู่สภาวะมีพรรคการเมืองพรรคเดียวครอบงำทางการเมืองเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน!

ขอบคุณข้อมูล

ระบบการปกครองท้องถิ่นของราชอาณาจักรกัมพูชา วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า

https://www.bbc.com/thai/international-42012249

https://prachatai.com/journal/2018/05/76797


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment