ธนารักษ์ตรวจพื้นที่หมอชิตเตรียมผุดโครงการใหญ่

อธิบดีกรมธนารักษ์นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ นำเสนอภาพรวมโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต พร้อมให้รายละเอียดการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารบนพื้นที่ชดเชยในพื้นที่โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต (เดิม)

โดยนายยุทธนา ให้ข้อมูลว่า ในปี 2535 กรุงเทพมหานคร ได้ทำสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครกับบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC โดยมีเงื่อนไขให้กรุงเทพมหานครต้องจัดหาที่ดินบริเวณสวนลุมพินีให้ BTSC นำมาใช้เป็นอู่จอดสถานีใหญ่ ศูนย์ควบคุม แต่กรุงเทพมหานครไม่สามารถจัดหาพื้นที่สำหรับเป็นอู่จอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าตามสัญญาฯ ได้ เนื่องจากพื้นที่เดิมที่จัดเตรียมไว้บริเวณสวนลุมพินีมีปัญหามวลชน จึงได้ทำการศึกษาหาพื้นที่อื่นทดแทน

ซึ่งผลการศึกษาปรากฏว่า พื้นที่บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความครอบครองดูแลของกรมการขนส่งทางบก (ในขณะนั้นใช้ประโยชน์เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร) เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด กรุงเทพมหานครจึงได้แจ้งความประสงค์ขอใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์ และได้มีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และกรุงเทพมหานคร โดยมีความเห็นว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการสมควรใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุดังกล่าวร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด และกรมธนารักษ์ จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงหลักการให้ใช้ที่ราชพัสดุเพื่อสร้างศูนย์ขนส่งระบบรถไฟฟ้าและรถยนต์โดยสารกรุงเทพมหานครตอนบน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2536

ในปี 2537 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2537 เห็นชอบให้นำที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 63-2-65 ไร่ มาพัฒนาจัดหาประโยชน์ตามแนวทางที่คณะทำงานพิจารณาดำเนินการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการพัฒนาในลักษณะการจัดสรรพื้นที่ ใช้สอยอาคารเป็นที่ตั้งโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร และสถานีขนส่งร่วมกัน โดยให้กรมการขนส่งทางบกส่งคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์มาบริหารจัดการ และมีเงื่อนไขต้องสร้างสถานีขนส่งชั่วคราวที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 และสถานีขนส่งถาวรในบริเวณเดิมให้ บขส.

กรมธนารักษ์จึงได้เปิดประมูลพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดย บริษัท ซันเอสเตท จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT)) เป็นผู้ชนะการประมูล ได้เสนอค่าธรรมเนียมการจัดประโยชน์ 550 ล้านบาท ก่อสร้างพื้นที่โครงการ 888,046 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ชดเชย 112,000 ตารางเมตร (อาคารสถานีขนส่ง พื้นที่ใช้สอยราชการ) และพื้นที่พาณิชย์ 776,046 ตารางเมตร (อาคารสำนักงาน พื้นที่พาณิชย์ และที่จอดรถ)

ต่อมาในปี 2539 กรมธนารักษ์จึงได้จัดทำสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตกับบริษัทฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2539 แต่เนื่องจากในปี 2544 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า สัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นที่ในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2539 ระหว่างกรมธนารักษ์ และบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลผูกพันในแง่สัญญาต่อกัน ทำให้สัญญาดังกล่าวหยุดชะงักไปชั่วคราว โดยกรมธนารักษ์ต้องดำเนินโครงการดังกล่าวใหม่ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

ในปี 2556 ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยสถานะของสัญญาว่า เมื่อยังไม่บอกเลิกสัญญา BKT และกรมธนารักษ์ยังคงต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไป กรมธนารักษ์จึงได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

นายยุทธนากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 เห็นชอบในหลักการแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ตามนัยมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยการแก้ไขสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2539 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนที่จะมีการลงนามผูกพันในสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการฯ ต่อไปรวมทั้งให้รับความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้กรมธนารักษ์ได้แจ้งให้ BKT ดำเนินการออกแบบ Conceptual Design ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่าง BKT ดำเนินการออกแบบ Conceptual Design

แล้วในปี 2562 ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหา และขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมธนารักษ์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ BKT เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งในการประชุมได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับรูปแบบทางยกระดับเข้าสู่โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุบริเวณที่กรมธนารักษ์อนุญาตให้กรุงเทพมหานครใช้ประโยชน์ชั่วคราวเพื่อเป็นที่จอดรถ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการยื่นคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 บนถนนกำแพงเพชร 2 กลับมาที่สถานีขนส่งหมอชิตเก่า บนถนนพหลโยธิน และคัดค้านการเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว

ทั้งนี้ ปี 2563 กรุงเทพมหานครได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 เพื่อเวนคืนที่ดินสำหรับสร้างและขยายทางยกระดับเชื่อมระหว่างอาคารอู่จอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับถนนวิภาวดีรังสิต ระยะเวลาใช้บังคับมีกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2567

ล่าสุดกรมธนารักษ์ได้จัดประชุมหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และ BKT เพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชดเชยในโครงการฯ และความจำเป็นในการก่อสร้างทางยกระดับสำหรับเข้า - ออก โครงการฯ กับถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งในที่ประชุมมีมติมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก และ บขส. พิจารณารูปแบบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชดเชย 100,000 ตารางเมตร เพื่อเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อได้ข้อยุติแล้วให้กรมธนารักษ์จัดประชุมหารือร่วมกันระหว่าง กรมธนารักษ์ กรมการขนส่งทางบก บขส. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ชดเชยเพื่อเป็นเพื่อเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร และความจำเป็นในการก่อสร้างทางยกระดับสำหรับเข้า - ออก โครงการฯ กับถนนวิภาวดีรังสิต ภายในต้นเดือนมีนาคม 2564


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment