ยูนิเซฟและพันธมิตรเร่งแจกจ่ายสิ่งของจำเป็นแก่เด็กและครอบครัวข้ามชาติในพื้นที่เสี่ยง

นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รักษาการผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดเผยว่า องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จับมือพันธมิตรและองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ยูเอสเอด) เพื่อเร่งแจกจ่ายสิ่งของจำเป็น พร้อมจัดการฝึกอบรมให้แก่ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงของประเทศไทยเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดและบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ล่าสุดเข้าถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติราว 30,000 คน ใน 45 ชุมชนในสมุทรสาครและจังหวัดอื่นๆ โดยการแพร่ระบาดล่าสุดส่งผลให้เด็กและครอบครัวข้ามชาติจำนวนมากกำลังเผชิญกับการขาดรายได้ การเข้าไม่ถึงข้อมูลที่จำเป็น และการขาดแคลนสิ่งของจำเป็นในการปกป้องตนเองจากโควิด-19

โดย ยูนิเซฟได้จัดส่งสบู่และเจลแอลกอฮอล์กว่า 10,000 ชิ้น พร้อมคู่มือเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในภาษาเมียนมาร์ ไปยังเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท และสมาคมพราว เพื่อแจกจ่ายไปยังชุมชนข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบใกล้เคียง พร้อมยังได้จัดส่งสิ่งของอื่น ๆ ประกอบด้วย ชุดคลุมพลาสติก (Isolation Gown) จำนวน 1,800 ชุด เฟซชิลด์ 650 ชิ้น หน้ากากอนามัย 400 กล่อง ถุงมือ 380 กล่อง และ น้ำยาฆ่าเชื้อ 100 แกลลอน ให้แก่เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสุขภาพข้ามชาติ และล่าม เพื่อใช้ในการทำงานสนับสนุนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ



นอกจากนี้ ยูนิเซฟ และยูเอสเอด กำลังสนับสนุนมูลนิธิรักษ์ไทย จัดอบรมผู้นำและสมาชิกชุมชนข้ามชาติจาก 40 ชุมชนในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และจันทบุรี เพื่อให้คนในชุมชนร่วมกันจัดทำมาตรการและกลไกในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชนของตน เช่น การเฝ้าระวังโควิด-19 และการเผยแพร่ความรู้ในชุมชน

ขณะเดียวกัน ยูนิเซฟยังได้สนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ข้ามชาติในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยสนับสนุนอินเทอร์เน็ตเพื่อการจัดเรียนการสอนออนไลน์ ตลอดจนการจัดเรียนการสอนนอกสถานที่อย่างปลอดภัย เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment