แค่ "ชุดไปรเวท" ทำเรื่องใหญ่ เอาอำนาจไปแก้ปัญหาระบบการศึกษาดีกว่า

ตามข่าวเรื่องโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนริเริ่มให้เด็กแต่งชุดไปรเวทไปเรียนหนังสือได้ด้วยความสนใจ เพราะคิดว่าปฏิกิริยาของสังคมจะเป็นปรอทวัดความพร้อมของสังคมไทยที่จะก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ สังคมของการเปิดกว้าง เคารพสิทธิเสรีภาพ และยอมรับความแตกต่างของคนในสังคม

หลังจากตามรับฟังมาสองสามวัน ต้องบอกว่าไม่ผิดหวังเลย เพราะมีการแสดงความคิดเห็นทั้งในทางเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ทางสื่อโซเชียลมากมาย รวมถึงปฏิกิริยาจากหน่วยราชการที่ให้ภาพค่อนข้างชัดทีเดียว

ภาพเบื้องต้นที่เห็นในช่วงสั้นๆ นี้ พอสรุปได้ว่าสำหรับเด็กและคนรุ่นใหม่พวกเขาเปิดกว้างรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ที่ยังติดยึดกับแนวคิดเก่าๆ กลับเป็นพวกผู้หลักผู้ใหญ่ คนแก่ และข้าราชการ... ต้องออกตัวก่อนว่านี่เป็นความรู้สึกส่วนตัวและเป็นภาพรวมๆ ของสังคมที่มีคนคลุกเคล้ากันไป มิได้เจาะจงลงไปที่คนผู้ใดผู้หนึ่ง

ความเห็นส่วนตัวในเรื่องนี้ ต้องบอกว่าเชียร์ให้โรงเรียนเปิดกว้าง ให้เด็กแต่งชุดเรียบร้อยอะไรมาเรียนก็ได้ ไม่บังคับให้เด็กต้องแต่งชุดนักเรียน ที่นี่เชื่อโดยสุจริตใจว่านี่เป็นพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพที่เด็กพึงมี สิทธิเสรีภาพในร่างกายและการแสดงออกในตัวตนของตนเอง และยังเป็นโอกาสที่ครูจะสอนเด็กให้รู้จักความพอดีในการใช้ชีวิตในสังคม

ที่นี่ไม่เชื่อเรื่องเครื่องแบบช่วยสร้างวินัย นั่นเป็นภาพลวงของมายาคติ... ทุกวันนี้ทั้งข้าราชการ ทั้งคนในเครื่องแบบ แทบทุกที่มีวินัยกันที่ไหน พยาบาลทำรุนแรงต่อคนไข้ติดเตียง ตำรวจแหกวินัยให้คนถ่ายคลิปประจาน คนคุกขายยาในคุกจนถูกจับ คนป่าไม้ขายไม้ของกลาง คนมีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญฉีกรัฐธรรมนูญเสียเอง... นี่คนในเครื่องแบบที่มีวินัยบังคับกันทั้งนั้น

ตื่นกันได้แล้ว วินัยเกิดได้เพราะมีการอบรมบังคับวินัย มีการให้คุณให้โทษด้วยระบบคุณธรรม วินัยไม่ได้เกิดง่ายๆ แค่เพราะมีเครื่องแบบ

ความเห็นเรื่องเครื่องแบบช่วยให้เกิดการประหยัด...นั่น ตื้นเขิน!

ใครจะไปรู้ฐานะเขาดีกว่าพ่อแม่เด็ก ก็ปล่อยให้พวกเขามีเสรีในการเลือกสิ ใครจะแต่งชุด ไปรเวท ใครจะแต่งชุดนักเรียนไปโรงเรียนก็ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองของเขาจะเลือกเอง ทางไหนประหยัดทางไหนถูกสำหรับเขา เขาก็จะเลือกทางนั้น... ไปคิดแทนเขาทำไม หรือคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าพวกเขาเอง

หลักคิดเรื่องนี้อยู่ที่การเคารพสิทธิในการเลือก บางคนใช้ชุดนักเรียนถูกกว่าก็ใส่ชุดนักเรียน บางบ้านชุดไปรเวทประหยัดกว่าก็เลือกชุดไปรเวท บางบ้านพอเพียงไม่ได้ติดเรื่องเศรษฐกิจ ก็แต่งสลับไปมาตามใจ... นี่คือหลัก Freedom of Choice

อาจมีบ้างที่เด็กบางคนสุดโต่งหรือมีปัญหาทางใดทางหนึ่ง ก็เป็นโอกาสที่ครูอาจารย์จะสอนจะแนะนำให้ความรู้ (ถ้าครูดีพอนะ) หรือวันนี้ความเชื่อถือในตัวครูและการทำหน้าที่ครูหมดไปแล้ว สังคมจึงต้องใช้ระบบบังคับ คิดเอาง่ายๆ ว่าสะดวกไม่ต้องพึ่งการสอนการแนะนำ เป็นการเผด็จอำนาจให้เป็น Freedom from Choice

ความจริงเรื่องเครื่องแบบนี่มันก็มีโรงเรียนที่ปล่อยให้แต่งไปรเวทกันอยู่แล้วไม่ใช่ว่าไม่มี ดูโรงเรียนนานาชาติบางแห่งและอีกบางโรงเรียนพิเศษหรือโรงเรียนเล็กๆ ที่เขาวางระบบของเขาเองแต่ไม่เป็นข่าว

เห็นข่าว สพฐ.ประกาศห้ามโรงเรียนรัฐอนุญาตเด็กใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน นี่เป็นปรอทสะท้อนระบบคิดของข้าราชการ มันฟ้องว่าพวกเขายังอยู่ในห้องพักครูแคบๆ ไม่ได้โผล่ไปเห็นอะไรข้างนอกที่ทุกวันนี้เด็กเรียนจากนอกห้องเรียนมากกว่าที่โรงเรียน

เห็นอย่างนี้ก็ไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมการส่งเสริมให้เด็กเรียนจากอินเทอร์เน็ตบ้านไม่ไปไหนสักที และไม่แปลกใจว่าทำไมไม่มีฐานความรู้บนคราวด์บนอินเทอร์เน็ตของรัฐที่เด็กพึ่งพาได้

ปรากฏการณ์กรุงเทพคริสเตียนครั้งนี้ แทนที่พวกเขาจะศึกษาและกลับไปรีวิวระเบียบเก่าเกรอะ พวกเขากลับรีบปกป้องระเบียบเก่านั้นแบบสุดชีวิต

นี่สะท้อนภาพล้าหลังคนรุ่นเก่าที่ครองอำนาจด้านการศึกษา... พวกเขาไม่พร้อมสำหรับสังคมสมัยใหม่

สำนักการศึกษาเอกชนนี่ยิ่งไปใหญ่ ถึงขนาดออกหนังสือไปบอกแกมบังคับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนให้ทบทวนนโยบายในเรื่องนี้ ที่นี่ดูว่านี่คือระบบความคิดเดิมๆ แบบบังคับบัญชาของราชการเก่า มิใช่ระบบการส่งเสริมกำกับดูแลของรัฐสมัยใหม่

ถามจริงๆ ว่าสิ่งที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนทำลงไปมันผิดกฎหมาย ผิดระเบียบข้อใดหรือ ถ้ามันผิด ท่านจะบังคับระเบียบบังคับกฎหมายก็ทำไปให้ถ้วนหน้า แต่ถ้ามันไม่ผิด ท่านจะไปยุ่งไปแทรกแซงเขาทำไม

ที่ถูกแล้วท่านควรถือโอกาสศึกษาข้อดีข้อเสียและดูผลสะท้อนทางสังคม ถ้าสิ่งนี้มันดีมันสร้างสรรค์ก็จะได้ส่งเสริมขยายผล ถ้ามันไม่เสียหายอะไรก็ปล่อยเขาไป ถ้าดูแล้วมันมีเสียหายจริงชัดเจนค่อยเข้าไปแทรกแซงแก้ไข... นี่คือการยอมให้มีการพัฒนาร่วมกันมิใช่ปิดกันแต่ต้นหรือเอาแต่ปกป้องเอาเป็นเอาตาย โธ่ถัง... โรงเรียนเอกชนที่ขาดทุน ขาดเด็กอยู่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ ท่านไม่รู้ร้อนรู้หนาว กลับมานั่งสนใจกับเรื่องเครื่องแบบที่ไม่ได้เป็นสาระงานอะไร โรงเรียนเอกชนเขาไม่ได้ใช้งบเงินหลวง นี่เป็นการใช้อำนาจที่ไม่มีอย่างผิดกาลเทศะและไร้หลักฐานดีเสียโดยแท้... นี่สะท้อนแนวคิดอำนาจนิยมของคนในระบบราชการ คนยุคสังคมเก่าครั้งไม่มีอินเทอร์เน็ต

เรื่องเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษานี่ในสมัยก่อนก็เคยมีปัญหาถกเถียงกัน สมัยนั้นยุคประชาธิปไตยนักศึกษาเบ่งบาน มหาวิทยาลัยแบบจุฬาฯ มธ. ก็เคยเรียกร้องขอแต่งชุดไปรเวทไปเรียนกัน นั่นยี่สิบสามสิบปีมาแล้วโน่น สมัยนั้นที่นี่ก็เฉยๆ เพราะเห็นว่าเด็กรามฯ เขาส่วนใหญ่ก็ใส่ชุดไปรเวทกางเกงยีนกันไปเรียน เด็กเขาก็เติบโตเป็นเด็กดีมีอนาคตกันไม่ได้แตกต่างจากมหาวิทยาลัยปิดอื่นๆ ... จำได้ว่าที่สุดในยุคนั้นก็ปล่อยให้แต่งชุดไปรเวทสุภาพไปเรียนได้ ส่วนใครจะแต่งชุดนิสิตไปเรียนก็ได้ ไม่บังคับไปทางใดทางหนึ่ง สมัยนั้นที่นี่ยังสอนหนังสืออยู่ ก็เห็นว่าลูกศิษย์ทั้งหมดไม่ได้แตกต่างกันไปเพราะเครื่องแบบ พวกเขาก็ยังเป็นนิสิตที่ดีเหมือนเดิมไม่ว่าจะแต่งชุดอะไร บางคนแอบเอาเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยมาเรียนด้วย ถ้าเรียบร้อยและมีที่นั่งพอ คนสอนก็ทำเป็นไม่รู้ ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่คุยวันนี้และก็ไม่รู้ว่าเด็กจะได้รับความรู้อะไรไปมั่ง แค่คิดว่าเขาก็ได้ประสบการณ์ได้ความรู้สึกดีๆ กับมหาวิทยาลัยไป ...

แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องเป็นประสบการณ์ตรงก็คือ เรื่องเครื่องแบบนี่ไม่ได้เป็นเรื่องโลกแตกกะลาเปิดอะไร เพราะที่สุดแล้วเด็กจะโตดีมีอนาคตนี่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเครื่องแบบ มันเกี่ยวกับครูที่สนใจอบรมดูแล และการสั่งสอนกันมากกว่า... วันนี้ที่มหาวิทยาลัย เด็กก็เลือกที่จะแต่งเครื่องแบบของเขาเองทั้งๆ ที่ไม่มีการบังคับอะไร

ที่นี่เชื่อว่าโรงเรียนดีๆ แบบสวนกุหลาบ หรือเตรียมอุดม หรือกรุงเทพคริสเตียน ไม่ว่าใส่ชุดอะไร เด็กก็จะยังคงเป็นเด็กเก่งเด็กดี...และไม่เชื่อว่าใส่เครื่องแบบหรือไม่ใส่แล้วพวกเขาจะเปลี่ยนไป

กระทรวงศึกษาควรไปคิดแก้ปัญหาเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นปัญหาหมักหมมไม่ดีกว่าหรือ?

อย่าคิดว่าข้าราชการจะรู้ดีกว่าครูแต่ละโรงเรียน แล้วมาแสดงผลงานด้วยการใช้อำนาจบังคับเรื่องสาระน้อยนี้เลย

ดร. พนา ทองมีอาคม

รวมความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้

นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กล่าวถึง บรรยากาศวันแรกที่ให้เด็กใส่ชุดไปรเวทมาเรียน ถือว่าค่อนข้างดี ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส ส่วนผู้ปกครองและศิษย์เก่า เท่าที่ดูเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลายคนเมื่อได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านก็มีความเข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้ การแต่งชุดไปรเวทมาเรียนทุกวันอังคารเป็นงานวิจัยของโรงเรียน โดยไม่มีการบังคับ เป้าหมายเพื่ออยากให้โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งความสุขของนักเรียน เชื่อว่าแค่หนึ่งวันของนักเรียนจะเป็นการสร้างความสุขให้เด็ก มีความคิดสร้างสรรค์ และต้องการสะท้อนว่าความแตกต่างของแต่ละคนสามารถอยู่ด้วยกันได้ หากพบว่าการแต่งชุดไปรเวทมาเรียนแล้วทำให้ผลการเรียนแย่ลง หรือได้รับผลกระทบต่อการเรียนหนังสือก็จะยกเลิกทันที

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยครั้งนี้ทางโรงเรียนดูอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความมีระเบียบวินัย และการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขของนักเรียน ซึ่งเราคิดถึงบริบทของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ เป็นหลัก เชื่อว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนถ้าโรงเรียนอื่นๆ จะทำตามด้วยนั้น คงต้องดูบริบทของแต่ละแห่ง ซึ่งหากผลวิจัยเป็นไปในทิศทางที่ดี จะเปิดโอกาสให้เด็กแต่งชุดไปรเวทได้มากกว่า 1 วันหรือไม่นั้น เบื้องต้นคิดว่าการแต่งชุดไปรเวทมาเรียนสัปดาห์ละ 1 วันถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว

“เรามีการคุยเรื่องนี้กันมานานกว่า 10 ปี จุดเริ่มต้นเกิดจากตัวผมเอง ในขณะที่เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ได้ถูกส่งศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้มีโอกาสเห็นงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายและความสุขในการเรียน ดังนั้นเมื่อกลับมาจึงมีการเสนอเรื่องนี้ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองจนตกผลึก และเริ่มโครงการ วิจัยเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบันเราสอนเด็กไม่ใช่เฉพาะเรื่องสติปัญญาเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะต้องมีทั้งความรู้และบุคลิกภาพที่ดี มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยขณะนี้ทางโรงเรียนยังเหลือเวลาทดลองช่วงเทอมนี้อีกประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าไม่มาก แต่หากเราพบว่า เด็กสามารถเรียนได้อย่างมีความสุขจะเริ่มการทดลองในสเต็ปต่อไป ดูผลที่เกิดขึ้นในด้านความคิดสร้างสรรค์และความกล้าแสดงออกของเด็กๆ ซึ่งในส่วนนี้อาจใช้เวลาเป็นปี จึงจะเห็นผลที่เกิดขึ้น”

(ที่มา: https://mgronline.com)

นายศุภกิจ ได้อธิบายอีกว่า โครงการนี้แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ช่วง 6 สัปดาห์ เพื่อดูว่านักเรียนจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ หลังจากแต่งชุดไปรเวทมาโรงเรียน ระยะที่ 2 ประมาณ 1 ปี จะสามารถเริ่มดำเนินการได้เมื่อผลการประเมินโครงการระยะแรกเสร็จสิ้น โดยส่งผลการประเมินไปหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ซึ่งเป็นปกติตามระเบียบที่ต้องรายงานขึ้นไป ขณะที่ผลตอบรับเมื่อวันอังคารพบว่าดีมาก ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองต่างชื่นชอบ มีเสียงสะท้อนขอบคุณที่โรงเรียนกล้าคิดต่างให้เด็กได้เเสดงออก แต่ยอมรับ อาจเป็นความผิดพลาดที่ไม่รู้ว่ากระแสตอบรับที่ตีกลับไปยังหน่วยงานเป็นอย่างไร ต่อไปจึงต้องหาข้อมูลมากขึ้น เพราะจะกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับโรงเรียนอื่น

ส่วนข้อกังวลว่าจะกลายเป็นภาระของผู้ปกครองเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ส่วนตัวไม่เชื่อ แต่หากเป็นจริง ยิ่งต้องสอนไม่ให้นักเรียนตกเป็นเหยื่อของแฟชั่น หากเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น ต้องหาทางแก้ไขให้ทุกระดับอยู่ด้วยกันได้ ส่วนตัวเห็นด้วยที่ในอดีตเด็กถูกสอนให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ทุกอย่าง แต่ในปัจจุบันอยากให้เพิ่มเติมเรื่องการไม่มองข้ามความสามารถของเด็ก พร้อมกล่าวว่า ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นนักการศึกษามีหน้าที่พัฒนาสิ่งที่ดีที่สุด หากโรงเรียนขาดทุนจะอยู่ไม่ได้ หากโรงเรียนไม่มีคุณภาพมากพอ ผู้ปกครองจะไม่ไว้วางใจให้ลูกหลาน เข้ามาเรียน จึงต้องพัฒนาอยู่เสมอ ไม่สามารถจะนั่งรอนโยบายจากภาครัฐที่เป็นองค์กรใหญ่ซึ่งมีความล่าช้าได้ ยอมรับหนักใจและเสียใจ ไม่คิดว่ากระแสการอนุญาตให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จะรุนแรงทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่ก็ดีใจที่มีการแสดงความคิดเห็นแบบหาข้อมูลมาก่อน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม

(ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก)

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ร่วมกับสภานักเรียนมัธยมศึกษา ทดลองให้นักเรียนเลือกใส่เครื่องแต่งกายไปรเวทด้วยตนเองสัปดาห์ละ 1 วัน โดยกำหนดทุกวันอังคารเพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเครื่องแต่งกายที่ไม่ใช่เครื่องแบบนักเรียนมาเรียนหนังสือนั้น จะส่งผลต่อการพัฒนาของนักเรียนในเชิงสร้างสรรค์อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ รวมทั้งเพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทันสมัยขึ้น และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ซึ่งจะใช้เวลา 1 ภาคเรียน โดยเริ่มวันนี้เป็นวันแรกนั้น ว่า โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน มีสถานะเป็นนิติบุคคลมีสิทธิในการดำเนินการ ไม่จำเป็นต้องแจ้งมาที่ตน เท่าที่ทราบคือโรงเรียนมีแผนเพื่อทำการวิจัยเช่นนี้ทางโรงเรียนน่าจะมีแผนการรองรับและมีความพร้อม เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นสิทธิของโรงเรียนและไม่ได้ทำผิดกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แต่อย่างใดด้วย อีกทั้งโรงเรียนก็มีสมาคมผู้ปกครองถ้าเกิดมีปัญหาอะไร เชื่อว่าจะเข้ามาร่วมกันดูแล และหน้าที่ของตนไม่ใช่การมาตรวจสอบการกระทำลักษณะนี้จึงไม่อยากให้ความเห็น

“โรงเรียนบอกแล้วว่าอยากจะทดลอง ซึ่งการที่เด็กแต่งกายชุดไปรเวทมาเรียนในทั่วโลก บางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร บางโรงเรียนก็ต้องแต่งเครื่องแบบ บางโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก็ไม่มีเครื่องแบบ หรือประเทศญี่ปุ่น ก็เข้มงวดเรื่องการแต่งกาย ตรงนี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีการปฏิบัติ ความเห็นชอบของผู้ปกครองของสถานศึกษา ตรงนี้โรงเรียนเอกไม่ได้ทำผิดกฎของ สช. อะไร ผมจึงไม่อยากให้ความเห็น ในทางกลับกันถ้าผมไปบอกว่าดีหรือไม่ดีอาจจะมีความผิดอีก ผมก็จะเพียงเฝ้าดูเฉยๆ ส่วนโรงเรียนอื่นหรือเด็กที่อยากทำตาม ถ้าเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว”

(ที่มา: https://mgronline.com)

"ผมต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่า อย่าให้เรื่องเครื่องแต่งกายมาเป็นประเด็นว่า จะมีผลกระทบด้านการเรียนหรือไม่ การแต่งกายกับการศึกษาต้องแยกจากกัน ว่าทำไมเราถึงต้องมีชุดนักเรียน เพราะการแต่งชุดนักเรียนเป็นเรื่องของประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แล้ว อีกทั้งพระองค์ยังเคยตรัสไว้ว่า การมีชุดนักเรียนนอกจากจะทำให้มีระเบียบวินัยแล้ว ก็ยังเป็นการลดการแบ่งชนชั้นระหว่างคนรวยและคนจน ไม่ใช่ว่าการมีชุดนักเรียนจะทำให้เรียนดีหรือเรียนไม่ดี" รมว.ศธ.กล่าว

(ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)

นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ทำหนังสือไปยังโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เพื่อขอให้ชี้แจงและอธิบายถึงเหตุผลที่ให้นักเรียนไม่ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนมาเรียนหนังสือ รวมถึงศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหนังสือดังกล่าวไม่ได้เป็นการให้โรงเรียนยุติการทดลองทำวิจัยเรื่องการแต่งกายเครื่องแบบตามทึ่โรงเรียนได้ชี้แจงมาก่อนหน้านี้ เพียงแค่อยากให้อธิบายให้ชัดเจน เพราะ สช.ก็ห่วงใยเรื่องความมีระเบียบ วินัย ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง การดูแลเด็กของครู บริบทของสังคมไทย และปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้น

(ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)

ทางโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ จะต้องไปหารือกับคณะกรรมการสถานศึกษาและแจ้งผลการหารือกลับมาที่กระทรวงศึกษาธิการ เพราะการแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ก็ยังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 กำกับไว้

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วชุดนักเรียนของโรงเรียนทั่วประเทศในสังกัด สช. ต้องระบุไว้ในระเบียบการของโรงเรียนว่า ชุดต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง หากโรงเรียนจะกำหนดให้แต่งแตกต่างไปจากระเบียบการที่ได้แจ้งไว้ จะต้องทำหนังสือแจ้งให้ สช.รับทราบก่อนที่โรงเรียนจะดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สช. ได้สอบถามเรื่องดังกล่าวพบว่าทีมผู้บริหารและครูได้หารือกันว่าต้องการทำวิจัยเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียน 6 สัปดาห์ แต่ก็อยากให้มองลึกลงไปกว่านั้นว่าในระหว่างการวิจัยจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง และถ้ามีผลกระทบก็ต้องทบทวน ส่วนโรงเรียนเอกชนอื่นหากอยากจะทำบ้างก็ควรคิดให้ดีว่าทำแล้วจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งกรรมการบริหารสถานศึกษาจะต้องมีความเข้มแข็งในเรื่องนี้

"การแต่งกายชุดไพรเวทมาเรียนทุกวันนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้แน่นอน เพราะจะมีปัญหาเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ตอนนี้ต้องรอฟังคำตอบจากเขา จากที่ได้พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้มีการรับปากด้วยวาจา ว่าจะทบทวนเรื่องนี้ นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดโรงเรียน พูดคุยกันเรื่องความเหมาะสมของการทดลองหรืองานวิจัยดังกล่าว"

(ที่มา: www.posttoday.com)


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment