เงินบาทอ่อนค่า รับสัญญาณเฟดเตรียมจบ QE กลางปีหน้า และรอจังหวะเหมาะสมสำหรับการขึ้นดอกเบี้ย

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงดอกเบี้ยและวงเงิน QE ตามเดิม แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของตลาดก็คือ ถ้อยแถลงหลังการประชุมของประธานเฟดในเรื่อง QE และมุมมองดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่เฟดที่เปิดโอกาสสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565

ในการประชุมรอบล่าสุด (21-22 ธ.ค.) เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 0.00-0.25% และคงวงเงินซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE ที่ 120,000 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนตามเดิม อย่างไรก็ดีประธานเฟด ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะเริ่มลดวงเงินซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการ QE ในเดือนพ.ย. 2564 นี้ และมาตรการ QE จะสิ้นสุดลงในกลางปี 2565 ขณะที่แผนภาพ Dot Plot ล่าสุด สะท้อนมุมมองเจ้าหน้าที่เฟด 9 ใน 18 รายที่มองว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดจะเริ่มขยับดอกเบี้ยในปีหน้า ซึ่งเร็วขึ้นกว่ามุมมองจาก Dot Plot รอบก่อน

หากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐฯ มีความต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เฟดจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือนในการชะลอมาตรการ QE หรือ QE Tapering โดยเฟดอาจทยอยลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ของมาตรการลง QE ประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน แบ่งเป็นลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์ฯ และลดการซื้อตราสารหนี้ MBS ที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อจำนอง เดือนละ 5,000 ล้านดอลลาร์ฯ นอกจากนี้การปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปี 2564-2565 ขึ้น[1] โดยที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีหน้าจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น น่าจะบ่งชี้ว่า เฟดจำเป็นต้องดูแลโจทย์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มในปีหน้า

จากผลการประชุมเฟดดังกล่าว เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปีในช่วงเช้าของวันที่ 23 กันยายน 2564 ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในเวลาต่อมา ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงดังกล่าว น่าจะสะท้อนข่าวการทำ QE tapering ของเฟดไปค่อนข้างมากพอสมควรแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสการอ่อนค่าเพิ่มเติมของเงินบาทในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และข้อมูลตลาดแรงงานจะออกมาดีกว่าคาดหรือไม่ เพียงใด แต่ในทางตรงกันข้าม หากตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะย่อตัวลงมาได้เช่นกัน

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จุดจับตาสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2564 จะอยู่ที่ 2 เรื่องหลักๆ คือ 1) การปรับลดมาตรการ QE ของเฟด และ 2) สถานการณ์โควิด-19 และการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศ โดยหากประเมินภาพจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และไทยแล้ว สัญญาณการเตรียมถอนตัวออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก่อนสิ้นปี 2564 เป็นปัจจัยสำคัญที่จะหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น และทำให้เงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ เป็นส่วนใหญ่ในช่วงที่เหลือของปี ดังนั้นแล้ว หากพัฒนาการของเรื่องราวต่างๆ ทำให้เงินบาทโน้มอ่อนค่าชัดเจนขึ้น ผู้นำเข้าอาจต้องพิจารณาทยอยทำสัญญาฟอร์เวิร์ดเพื่อซื้อดอลลาร์ฯ ล่วงหน้าเพื่อบรรเทาผลกระทบบางส่วนต่อมาร์จิน เป็นต้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment