รสก.เบิกจ่าย11เดือนสูง 93%

รัฐวิสาหกิจปรับกลยุทธ์การเบิกจ่ายลงทุน ยอดเบิกจ่าย 11 เดือน ปีงบ 64 สูง 93% พยุงเศรษฐกิจไทยสู้โควิด

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 รัฐวิสาหกิจ 43 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรงมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 228,231 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 93 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม ประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบลงทุน 11 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - เดือนสิงหาคม 2564) 34 แห่ง จำนวน 126,584 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 84 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม และการเบิกจ่ายงบลงทุน 8 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีปฏิทิน (เดือนมกราคม 2564 - เดือนกรกฎาคม 2564) 9 แห่ง จำนวน 101,646 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 106 ของแผนเบิกจ่ายสะสม

โดยในเดือนสิงหาคม 2564 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเบิกจ่ายลงทุน โดยพยายามปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากสถานการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงาน ได้แก่ การปรับแก้ไขสัญญาเรื่องค่าปรับที่ส่งผลกระทบต่อเอกชน การเร่งรัดการเบกจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าตามสัญญาให้แก่เอกชน การปรับแผนเบิกจ่ายในส่วนงานจัดซื้อพัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักร เพื่อทดแทนงานก่อสร้างที่ไม่สามารถดำเนินการได้ การปรับรูปแบบการดำเนินงานจากการใช้แรงงานคนเป็นการใช้ระบบอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้นช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีผลการเบิกจ่ายลงทุนในระดับที่ดีและเป็นไปตามแผน ทั้งนี้ การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังคงเป็นเครื่องมือที่ช่วยพยุงและกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยต่อไป

โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ดีและเป็นไปตามแผน อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อบางโครงการ/แผนงานเนื่องจากบุคลากรไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างหรือตรวจรับงานได้ ขาดแคลนแรงงานและไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว เช่น การประสานหน่วยงานภาครัฐเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง โดยมีมาตรการที่รัดกุมรองรับ การหาแรงงานและวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ทดแทน รวมทั้ง เร่งรัดงานอื่นมาดำเนินการทดแทน เพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเสริมว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 รัฐวิสาหกิจหลายแห่งสามารถเบิกจ่ายได้เป็นไปตามแผนหรือสูงกว่าแผน เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี ของ รฟม. แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 - 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง งานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปา ของการประปาส่วนภูมิภาค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และโครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12 (กฟผ.) ทั้งนี้ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายล่าช้า เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร ของ รฟท. โครงการพัฒนา

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 - 2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 9 ของการประปานครหลวง และแผนก่อสร้างศูนย์บริหาร

ทางพิเศษ กทพ. (ระยะที่ 2) ของ กทพ.


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment